ในวันฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 70 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ประกาศพินัยกรรมที่ระบุว่าจะยกทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทให้กับมูลนิธิอมตะเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป
วิกรม กรมดิษฐ์ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) และประธานมูลนิธิอมตะการมอบทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งคิดเป็น 95% ของทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดให้กับมูลนิธิอมตะ เป็นเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะส่งมอบความมั่นคงต่อการดำเนินงานของมูลนิธิอมตะอย่างไม่สิ้นสุด โดยทรัพย์สินส่วนตัวมีทั้ง ที่ดิน อาคารสิ่งก่อสร้าง หุ้น หรือแม้กระทั่งของสะสมอย่างรถหรูต่างๆ เป็นต้น
“อายุ 70 ปีแล้วสะท้อนว่าเราเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง และมองไปเมื่อวัยเด็กเราเคยลำบากแต่ไม่ใช่ยากจนนะ ครอบครัวเราเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ปู่ทวด ร่ำรวยสุดในกาญจนบุรีแต่ถูกพ่อใช้งานหนักมาก ได้ทุนไปเรียนที่ไต้หวันกำลังจะต่อปริญญาโทวิศวกรรมอวกาศ ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต้ปี 1975 แต่ไม่มีทุนเรียนต้องกลับมาหาเงิน
“เราจึงคิดว่าถ้าเราได้ดิบได้ดี เราจะนำมาแบ่งปัน ผมจึงตั้งมูลนิธิอมตะขึ้นมาเมื่อ 27 ปีก่อนโดยใช้เงินส่วนตัว 100% เพราะกำหนดเรื่องที่อยากจะทำได้ และที่สำคัญการทำธุรกิจที่ผ่านมาเงินที่ได้มาจากแผ่นดินนี้ สังคมนี้ จึงต้องคืนกลับไป จึงทำพินัยกรรมมอบให้กับมูลนิธิอมตะ และถ้าเสียชีวิตก็จะโอนทั้ง 100% ให้มูลนิธิทั้งหมด” วิกรมกล่าวถึงที่มาของเจตนารมณ์ในการมอบทรัพย์สิน
สำหรับประเด็นที่ว่าทำไมถึงยกทรัพย์สินให้สาธารณะแทนครอบครัว วิกรมยืนยันว่าพี่น้องของเขาล้วนมีทรัพย์สินส่วนตัวอยู่พอสมควรแล้ว และเชื่อมั่นว่าน้องทุกคนเป็นคนดี เรียนเก่ง มีความสามารถ และที่สำคัญหากแบ่งให้ครอบครัวอาจเกิดความไม่เท่าเทียม ทำให้มีปัญหากัน กลายเป็นว่าเอายาพิษให้เขา แต่ให้ครอบครัวมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารมูลนิธิอมตะ
สำหรับมูลนิธิอมตะได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีโครงการภายใต้วัตถุประสงค์ เช่น โครงการรางวัล นักเขียนอมตะ, โครงการทุนเรียนดี, โครงการประกวดศิลปกรรม อมตะ อาร์ต อวอร์ด, โครงการด้านนวัตกรรม, โครงการหนังสือดีมีประโยชน์สร้างการเปลี่ยนแปลง และโครงการปรับปรุงอุทยานเขาใหญ่สู่อุทยานมาตรฐานโลกภายในเวลา 10 ปี ฯลฯ