NIA แถลงความสำเร็จงาน SITE2023 ยกระดับความร่วมมือทางนวัตกรรม พร้อมโชว์ศักยภาพของระบบนิเวศนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทย

6

NIA แถลงความสำเร็จงาน SITE2023 ยกระดับความร่วมมือทางนวัตกรรม พร้อมโชว์ศักยภาพของระบบนิเวศนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทย

13 กรกฎาคม 2566 – กรุงเทพฯ/ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หริอ NIA เผยผลสำเร็จงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชั่นไทยแลนด์เอ็กซ์โป 2023 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2023) ภายใต้แนวคิด INNOVATION PARTNERSHIP – TOGETHER WE GROW ร่วมสร้าง “หุ้นส่วนนวัตกรรม” เพื่อนำไทยสู่ชาตินวัตกรรม สร้างปรากฏการณ์ยกระดับความร่วมมือทางนวัตกรรม พร้อมโชว์ศักยภาพของระบบนิเวศนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 3 หัวใจสำคัญ ระบบนิเวศนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน และความเป็นสากล

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยความสำเร็จของงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชั่นไทยแลนด์เอ็กซ์โป 2023 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2023) ที่จัดเมื่อวันที่ 22 – 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศกว่า 250 หน่วยงาน ร่วมจัดแสดงผลงานและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมภายใต้ 3 ธีมสำคัญ 47 หัวข้อโดยวิทยากรชื่อดังกว่า 150 ท่าน จาก 15 ประเทศทั่วโลก โดยตลอด 3 วันของการจัดงานมีผู้เข้าชมงานกว่า 15,000 คน และมีการเข้าชมออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th/ มากกว่า 170,000 คน รวมทั้งมีสถิติการรับชมงานผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ของ NIA และ Startup Thailand มากถึง 3.9 ล้านคน

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวย้ำว่า “หัวใจสำคัญของ Innovation Partnership ที่เกิดขึ้นในงาน ได้แก่ 1) การร่วมกันแสดงศักยภาพของระบบนิเวศนวัตกรรม (Ecosystem) ประเทศไทย พร้อมชวนสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้าร่วม 2) การทำงานร่วมกัน (Collaboration) อย่างเข้มแข็งระหว่างมหาวิทยาลัย เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคม และ 3) Internationalization โดยทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ มีลวดลายของความเป็นนวัตกรรมมากขึ้น และ เป็นเบ้าหลอมให้นวัตกรจากหลากหลายภูมิภาคทั้งไทยและต่างชาติมาปักหลักที่ประเทศไทยมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ส่งออกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไปเติบโตสู่ตลาดต่างประเทศเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีบูธที่รวบรวมนวัตกรรมทั้งจากสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และกิจการเพื่อสังคมทั้งจากไทยและต่างประเทศกว่า 250 บูธ โดยแบ่งเป็นสินค้าและบริการด้านการเกษตรเพื่อความยั่งยืน อาหาร สุขภาพและการแพทย์ เทคโนโลยีเอไอ Robotics และ Immersive/IoT, โซลูชั่นสำหรับองค์กรและ Digital Transformation, นวัตกรรมเพื่อสังคม, Green & Clean Solution และ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเกิดการจับคู่ธุรกิจกว่า 65 ครั้ง

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวว่าจากความทุ่มเทของเราที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Startup Universe ซึ่งปีนี้มีส่วนสำคัญอยู่ 3 ข้อ คือ 1) การกำเนิดมหาวิทยาลัยที่พร้อมลงทุน ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ โดยเฉพาะการที่มหาวิทยาลัยเป็นทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยี ตั้งบริษัท และลงทุนเอง 2) บริษัทมีการรวมตัวเป็นสมาคมมากขึ้น และ 3) การกำเนิดธุรกิจสตาร์ทอัพสาขาใหม่ สาขาที่ 11 คือ Climate Tech ที่เน้นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมถึงช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมากับบทบาทการเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยว่า “NIA ได้ขยายการดำเนินงานครอบคลุมภารกิจในหลากหลายด้าน จากเดิมที่เน้นการให้ทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีสำหรับสร้างธุรกิจนวัตกรรม ต่อมาจึงริเริ่มสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพภายใต้บทบาท “หน่วยงานบูรณากรเชิงระบบ” หรือ “System Integrator” ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมไทยและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้แก่ชุมชนในทุกภูมิภาคของประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมใน 7 เมืองศูนย์กลางนวัตกรรม 24 จังหวัด และเมื่อประเทศไทยมีผู้เล่นใหม่ทางด้านสังคมที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนวัตกรรม NIA ก็ได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมขึ้นในทุกภูมิภาค”

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชน สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการให้มีความพร้อมปรับตัวและรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผ่านหลักสูตรเสริมความองค์ความรู้จากสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA academy และกิจกรรม

บ่มเพาะในรายสาขาสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งนอกจากจะได้องค์ความรู้แล้ว ยังจะได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับบริษัทขนาดใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน และโอกาสการต่อยอดเชิงพาณิชย์ร่วมกันในอนาคต

ปัจจุบัน NIA มีการปรับเปลี่ยนบทบาทจาก “หน่วยงานบูรณากรเชิงระบบ” ไปสู่การเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม” หรือ “Focal Facilitator” ภายใต้ 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) ทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง 2) พลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทย 3) สร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม และ 4) เป็นองค์กรสมรรถนะสูง ที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” (Innovation Nation) ที่พร้อมเติบโตและสามารถสร้างนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน